การตลาดมีกี่ ‘P’ กันแน่…แต่ละ “P” สำคัญแค่ไหน

บุริม โอทกานนท์

30 พ.ค. 2560

marketing2

หลายท่านที่มีความสนใจด้านการตลาดคงอยากทราบว่าการตลาดหรือ Marketing นั้นมี กี่ ‘P’ กันแน่ บางท่านก็บอกว่าเดี๋ยวนี้เขามี 7Ps แล้วบางท่านก็บอกว่าไม่ใช่มีแค่ 6Ps ไม่ใช่หรือ บางท่านก็บอกว่า มากกว่านั้นมั้ง เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าวผมได้ลองเข้าไปค้นคว้าเพื่อหาคำตอบว่าที่จริงแล้วนั้น Marketing นั้นมีกี่ ‘P’ กันแน่

จากข้อมูลที่ค้นหามานั้นผมพบว่า อันที่จริงแล้วแนวคิดเรื่องของ ‘P’ ทางการตลาดนั้นเริ่มต้นมาจากการนิยามความหมายของการตลาดว่า การตลาดคืออะไร ในตอนเริ่มต้นแนวคิดมุมมองทางการตลาดเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนและเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์ออกจากโรงงานไปสู่มือผู้บริโภคเท่านั้น แต่ต่อมาแนวคิดดังกล่าวก็ได้มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเกิดเป็นคำถามอย่างมากมายเช่นว่า การส่งผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางที่ว่านั้นใครเป็นเจ้าของช่องทางกันแน่ และคนที่เป็นเจ้าของช่องทางนั้นเป็นเจ้าของสินค้าตัวจริงหรือแค่ตัวกลางในการส่งมอบสินค้าแต่เพียงเท่านั้น เพราะการชำระค่าสินค้าก็มีความแตกต่างไม่เหมือนกันในแต่ละช่องทาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาของผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันแต่มีราคาขายที่แตกต่างกัน แล้วการกำหนดราคาที่แตกต่างกันนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรในเมื่อสินค้าออกมาจากโรงงานเดียวกันแท้ๆ ซึ่งในช่วงต้นนี้การตลาดถูกมองเป็นเพียงแค่รายการซื้อขายเป็นครั้งๆ (Transactional sales) แต่เมื่อความซับซ้อนของการแลกเปลี่ยนสินค้ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ การมองการขายเป็นครั้งๆ นั้นคงจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นในช่วงเวลาต่อมาเหล่านักวิชาการจึงปรับมุมมองต่อการตลาดว่าการตลาดนั้นเป็น ‘กระบวนการ’ (Process) ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการดำเนินธุรกิจมากกว่าเป็นการซื้อขายสินค้าเป็นครั้งๆ เท่านั้น และเมื่อการตลาดนั้นเป็นกระบวนการส่งมอบผลิตภัณฑ์จากโรงงานไปสู่มือผู้บริโภคในเชิงพาณิชย์แล้วสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวโยงในกระบวนการดังกล่าวก็คือการมีความคิดสร้างสรรค์ว่าใครจะมีการส่งมอบได้อย่างดีกว่ากันและตัวผลิตภัณฑ์ทำอย่างไรถึงจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างที่คาดหวัง

ความคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวผลักดันให้กระบวนการตลาดคิดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณค่า’ (Value) และคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นนั้นจะเกิดการรับรู้ในวงกว้างได้อย่างไร การสื่อสาร (Communication) จึงเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการสื่อสารเรื่องคุณค่าออกสู่กลุ่มเป้าหมาย

จากแนวคิดที่เขียนมาคงจะทำให้ท่านผู้อ่านทราบถึงพื้นฐานโดยย่อของที่มาและที่ไปของการตลาดที่เรียกกันว่า 4Ps ครับ ซึ่ง 4Ps นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Place) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Price) และ การสื่อสารการตลาดหรือ (Promotion) นะครับ สำหรับผู้ที่สร้างคำว่า 4Ps ขึ้นมาก็คือ แมคคาร์ที (McCarthy, E.J.) ซึ่งแมคคาร์ที เขียนแสดงความคิดเห็นของเขาไว้ในหนังสือของที่ชื่อ Basic Marketing: A Managerial Approach ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ปี 1960  แนวคิด 4Ps ของแมคคาร์ทีนั้นถูกท้าทายและนำไปทดสอบว่าส่งผลอย่างไรกับผู้บริโภคอย่างมากมายในเวลาต่อมาและในหลายๆ งานวิจัย ซึ่งผลการวิจัยก็ล้วนแต่ออกมาในทิศทางเดียวกันว่า 4Ps นั้นมีความสัมพันธ์กับการซื้อสินค้า และ 4Ps ยังสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย จากนั้นแนวคิด 4Ps ที่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมของแมคคาร์ทีนั้นจึงถูกบรรจุลงในตำราการเรียนการสอนแทบทุกแห่งทั่วโลกในเวลาต่อมา

2ที่มา http://marketingmix.co.uk/

แต่อย่างไรก็ตามการนำเอาแนวคิด 4Ps ออกไปใช้งานจริงๆ นั้น บางคนก็พบกับอุปสรรคที่เกิดขึ้นคือ ปัจจัยทั้ง 4 ปัจจัยของ 4Ps นั้นดูเหมือนจะไม่พอใช้งานหรือไม่ครบถ้วนในการทำการตลาดของบางธุรกิจทำให้มีนักคิดนักวิชาการอีกหลายคนที่บัญญัติ ‘P’ เพิ่มขึ้นใหม่จากการปรับปรุงมาจาก 4Ps เดิมไม่ว่าจะเป็น บูมและบิทเนอร์ (Booms & Bitner) ในปี 1980 ที่ระบุว่าการตลาดควรจะเป็น 7Ps สำหรับอีกสาม P ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ ผู้เข้าร่วม (Participants) หลักฐานทางกายภาพ (Physical evidence) และกระบวนการ (Process) หรือแนวคิดของปรมาจารย์ทางการตลาดอย่าง คอตเลอร์ (Kotler, P.)  ในปี 1984 ก็บอกไว้ว่าการตลาดควรจะเป็น 6Ps อีกสอง P ที่เพิ่มขึ้นก็คือ อำนาจทางการเมือง (Political Power) และความคิดเห็นสาธารณะ (Public Opinion) นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายๆ คนที่ปรับเพิ่ม P ของการตลาด ซึ่งผมได้รวบรวมแนวคิดที่เรียกว่า ‘P ต่อขยาย’ จากแนวคิดดั้งเดิมของ แมคคาร์ทีไว้ดังนี้ครับ

ผู้แต่ง ปี P ส่วนประสมการตลาด
N.H. Borden 1964 12Ps การวางแผนผลิตภัณฑ์ (Product Planning) ราคา (Pricing) ตราสินค้า (Branding)  ช่องทางการจัดจำหน่าย(Channel of Distribution) การขายโดยใช้บุคคล (Personal Selling) การโฆษณา (Advertising) การส่งเสริมการตลาด (Promotions) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) การแสดงสินค้า (Display) การบริการ (Servicing) การขนย้าย (Physical Handling) นโยบายและกระบวนการ (Fact Finding and Analysis)
E.J. McCarthy 1960 4Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion)
B. H. Booms and

B. J. Bitner

1980 7Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) ผู้เข้าร่วม (Participants) หลักฐานทางกายภาพ (Physical evidence) และกระบวนการ (Process)
P. Kotler 1984 6Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) อำนาจทางการเมือง (Political Power) และความคิดเห็นสาธารณะ (Public Opinion)
V.C. Judd 1987 5Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) คน(People)
J. Baumgartner 1991 15Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) คน(People) การเมือง (Politics) การประชาสัมพันธ์ (Public relations) การตรวจสอบ (Probe) การจำแนกกลุ่ม (Partition) การจัดลำดับ(Prioritise) การกำหนดตำแหน่ง(Position) กำไร (Profit) แผนการ (Plan) ความสามารถ (Performance)  การคิดเชิงบวก(Positive) การลงมือปฏิบัติ (Implementations)
C. Vignalis and

B.J. Davis

1994 5Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) การบริการ (Service)
R.E. Goldsmith 1999 8Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion)

ด้านผู้เข้าร่วม (Participants) ด้านหลักฐานทางกายภาพ (Physical Evidence) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านการระบุตัวตน (Personalisation)

B. Tracy 2004 7Ps ผลิตภัณฑ์ (Product) ราคา (Price) ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place or Distribution Channel) การส่งเสริมการตลาด (Promotion) บรรจุภัณฑ์ (Packaging) การกำหนดตำแหน่ง (Positioning) และ คน (People)

1

ที่มา http://marketingmix.co.uk/

คงจะเห็นได้ว่าหลังจากการตลาดที่ประกอบด้วย 4Ps ถูกนำมาใช้ เราก็จะพบว่ามี  ‘P ต่อขยาย’ ทางการตลาดเกิดขึ้นอีกมากมายจากหลายนักคิด แต่ P ทั้งหมดของการตลาดก็แล้วแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘4Ps’ เดิมแทบทั้งสิ้น ซึ่งเราก็คงไม่สามารถสรุปลงไปได้ว่าในตอนนี้การตลาดนั้นมี P เป็นองค์ประกอบนอกเหนือจาก 4Ps เดิมเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่  ไม่แน่ว่าพรุ่งนี้ก็อาจจะมีเพิ่มขึ้นมาอีก แต่จากการค้นคว้าทำให้ผมพบว่า ‘P ต่อขยาย’ ที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะเกิดขึ้นตามบริบทของการนำไปใช้งานในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่นการตลาด 7Ps ของบูมและบิทเนอร์อาจจะใช้ได้ดีในลักษณะที่ผู้ผลิตเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือ การตลาดแบบ 5Ps ของจัดด์ (Judd) อาจจะเหมาะสมกับงานการตลาดที่เกี่ยวข้องกับความสามารถและทักษะของคนที่ต้องทำงานด้านการตลาดเป็นต้น

อันที่จริงแล้วการตลาดจะมีกี่ ‘P’ ก็ยังไม่สำคัญเท่าการมองย้อนกลับไปที่แนวคิดตั้งต้นคือการทำการตลาดทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการที่สามารถทำให้สินค้าหรือบริการนั้นสามารถส่งไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างที่ทุกฝ่ายมีความสุขและเกิดการซื้อขายกันอย่างต่อเนื่องใช่ไหมครับ

1 Response